หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคนิคอ่านงบการเงิน: ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์


ชอบบทความนึงจาก pantip.com ของคุณ ปั้นดินเป็นดาว ที่โพสเรื่องเทคนิคอ่านงบการเงินของ ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ ขออนุญาติก๊อปมาแปะไว้ในบล๊อคเผื่อเป็นประโยชน์นะครับ

-----------------------------------------

เทคนิคอ่านงบการเงิน: ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์

ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ มือ1ด้านบัญชีที่เกี่ยวกับการลงทุน อธิบายให้ฟังสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนบัญชีมาแต่อยากจะเข้าใจบัญชี งบการเงินจะต้องดูตรงไหน ยังไงเพื่อที่จะมาลงทุนในหุ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักลงทุนภายนอกที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปบริหารงาน อย่างน้อยก็มีอะไรมาบอกเราทุกๆไตรมาศว่าผลการดำเนินงาน / ฐานะการเงิน / บริษัทมีกระแสเงินสดเข้าออกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นยังไงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจลงทุน
งบการเงินมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วนที่ต้องสนใจคือ
1. ผลการดำเนินงาน ก็คือ งบกำไร-ขาดทุน
2. ฐานะทางการเงิน ก็ดูที่ งบดุล
3. กระแสเงินสด ก็คือ งบกระแสเงินสด

แต่ส่วนใหญ่พอเอาเข้าจริง ๆ นักลงทุนไม่ค่อยสนใจงบดุลและงบกระแสเงินสด ทุกคนก็ดูแค่บรรทัดสุดท้ายของงบกำไร-ขาดทุนเท่านั้น
ที่พอเค้าบอกว่าปีนี้กำไรดีขึ้นก็แปลว่าบริษัทก็คงจะดีขึ้นไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วบางทีก็เป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นมาอย่างผิดปกติ
เช่นมีการไปจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการเพิ่มช่องทางในการกู้ยืมเงินดี ๆ นี่เอง คือแทนที่จะไปหาแบ็งค์
ซึ่งดอกเบี้ยก็สูงกว่าจะผ่านพิธีการทำเรื่องขอกู้จบก็นาน
เลยทำให้ระยะหลังช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหลาย ๆ บริษัทพออยากขยายตัวก็ใช้วิธีนำเอาทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่า
หรือตัวอาคารและที่ดินขายเข้าสู่กองทุน แล้วก็ตั้งเงื่อนไขว่าเจ้าของเดิมจะเข้าไปถือหุ้น 30 %
แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้เป็นการขายขาดในหลายๆสัญญาโดยทำการซ่อนเงื่อนไขว่าให้เจ้าของเดิมเป็นผู้เข้าไปบริหารทรัพย์สินที่ขายได้
บางทีก็ตกลงในสัญญาว่าทรัพย์สินที่ขายไปหากนำไปปล่อยให้เช่าแล้วได้ค่าเช่าต่ำกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญา
ทางบริษัทผู้ขายจะชดใช้ส่วนต่างให้แต่หากปล่อยเช่าได้สูงกว่าในสัญญาส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจะต้องจ่ายคืนให้กับบริษัทผู้ขาย
ซึ่งในทางบัญชีมองว่าไม่ใช่การขายขาดจริงๆ แถมพอปีที่ 10 ยังไปให้ put option แก่กองทุนที่รับซื้อไปว่าให้ขายคืนกลับมาบริษัทก็ได้
ทางบัญชีก็เลยบอกว่าไม่ให้ตัดสินทรัพย์ออกจากงบดุลแล้วห้ามบริษัทมาออกข่าวว่าจะมีกำไรก้อนใหญ่เข้าบริษัทมาในช่วงเวลานั้นๆ
เพราะในทางบัญชีบอกว่าไม่ได้เป็นการขายขาดจริง จากนั้นเป็นต้นมาทุกบริษัทก็เลยจบลงด้วยการอย่าทำให้ใครเค้าทราบแบบนี้ออกมาชัดเจน
เพราะหากว่าบริษัทไปเขียนอะไรชัดเจนจนเกินไป บัญชีก็จะตีว่าไม่ใช่การมีรายได้จาการขายขาดแต่เป็นการกู้ยืมเงินแทน
หลักเกณฑ์ในการเข้าไปอ่านงบการเงินเพื่อให้เข้าใจง่าย และนำไปใช้ประโยชน์ได้ต้องทำยังไง ?

วิธีอ่านงบกำไร-ขาดทุน ซึ่งเป็นงบที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงเวลานั้น ๆ

ก่อนอื่นพอเราได้งบมาเราก็ต้องเข้าไปดูที่งบกำไร-ขาดทุนก่อน เพราะเป็นงบที่เข้าใจง่ายเราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่า กำไร คือ รายได้ลบด้วยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

กำไร = รายได้ – ค่าใช้จ่าย

แต่ทีนี้กำไรเราจะดูแต่บรรทัดสุดท้ายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันอาจจะมีกำไรบางอย่างที่มันอาจจะมาแค่หนเดียวในช่วงเวลานั้น
แต่มันอาจไม่เกิดซ้ำอีกก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องตรวจตราก่อนเป็นอย่างแรกว่ามีกำไรอะไรไหมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ
เช่น เป็นกำไรที่เกิดจาการไถ่ถอนคืนหุ้นกู้ก่อนกำหนด ก็คือบริษัทบางแห่งไปออกหุ้นกู้ไว้
พออยู่ดีๆ ราคาในตลาดรองมันลดลง บริษัทก็เอาเงินที่เหลืออยู่ในบริษัทไปซื้อคืนกลับมาแล้วก็มีกำไรจากการไถ่คืนก้อนเบ้อเริ่ม
อย่างงี้เราก็ต้องตัดทิ้งทั้งหมด ซึ่งมันก็จะแสดงอยู่ในงบ ซึ่งเมื่อเราดูในงบกำไร-ขาดทุนบรรทัดบนสุดเลยจะเริ่มจากรายได้จากธุรกิจหลักคือ รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ
ในบรรทัดที่ 2 เป็นรายได้จากส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่น รายได้จากดอกเบี้ยรับ
หรือตัวอย่างเช่นในโรงพยาบาลก็จะเป็นรายได้จากการให้เช่าพื้นที่อันนี้ก็ไม่ใช่รายได้หลัก
พอบรรทัดที่ 3 เราก็จะเจอคำว่า กำไรจากการขายทรัพย์สิน หรือกำไรจากการขายเงินลงทุน หรือ กำไรจากการไถ่ถอนคืนหุ้นกู้ก่อนกำหนด
หรือกำไรจากการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในบรรทัดนี้นี่เองที่เราไม่ได้ให้น้ำหนักมาก
ว่าเป็นกำไรที่จะมาทำให้เรามาดูว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
เพราะเราถือว่าไม่ใช่กำไรที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่มีข้อยกเว้นคือบางทีก็ต้องพิจารณาดูเหมือนกันว่าการขายนั้น
เป็นการขายทรัพย์สินเพื่อออกจากเส้นทางธุรกิจที่ตนเองไม่ชำนาญ
ซึ่งบางครั้งถือเป็นสิ่งที่ดี นั่นคือเราต้องไปหาสาเหตุเพิ่มเติมว่ากำไรครั้งนี้ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวนั้นเป็นกำไรที่อาจทำให้อนาคตของบริษัทเป็นยังไงต่อไปเหมือนกัน

ยกตัวอย่างกรณีของ CPALL ที่ขายโลตัสประเทศจีนซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนมาโดยตลอดเป็นตัวที่คอยฉุดผลกำไรในบรรทัดสุดท้าย
แต่พอขายหุ้นโลตัสจีนแบบมีกำไรทิ้งไปทำให้ศักยภาพในการทำกำไรของ CPALL ดีขึ้นราคาหุ้นจึงปรับตัวสูงขึ้น
ดังนั้นเวลาที่เราดูงบกำไร-ขาดทุนซึ่งมี 2 ชนิด คือ

- งบกำไร-ขาดทุนเฉพาะ ( หมายถึงเฉพาะ CPALL ในเมืองไทย )
- งบการเงินรวม ( ที่ได้รวมผลกำไรขาดทุนทั้งหมดมาแล้วทั้งในไทยและในต่างประเทศ )

งบที่ควรให้ความสำคัญคือ งบการเงินรวม เพราะเป็นการดูในภาพรวมว่ากำไรที่บริษัททำได้กับกำไรที่ไปลงทุนนั้นเป็นยังไง
หากในภาพรวมดูแย่แต่ในวันนึงบริษัทได้ไปขายในส่วนที่ทำให้แย่แล้วทำให้ภาพรวมดูดีขึ้น
การแต่งงบการเงินเพื่อสร้างกำไรจะเกิดได้ยากถ้าเราดูงบการเงินรวม
เพราะงบรวมจะตัดกำไรที่ไม่เกิดขึ้นจริงออกไปหมดเรียบร้อยแล้ว
เช่นบริษัทแม่ใกล้วันปิดบัญชีแล้วกำไรไม่ถึงเป้า ก็พยายามเอาบริษัทลูกมาช่วยซื้อสินค้าออกไปจากตัวเอง
แต่งบรวมจะตัดส่วนนี้ออกเพราะบางทีมันแค่ยกของใส่รถไปตั้งอยู่ที่บริษัทลูกแล้วก็ลงบัญชีว่าเป็นรายได้และกำไรเกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้นเราต้องคอยดูที่งบรวมในการวิเคราะห์เพราะเป็นเครื่องมือในการปิดโอกาสแม่กับลูกจะไปเล่นตัวเลขกำไรกันเอง
แต่ก็จำเป็นต้องไปดูในหมายเหตุประกอบงบที่จะบอกเราว่าที่รวมอยู่ในงบรวมแล้วตัดรายการต่าง ๆ ทิ้งไปมันมาจากธุรกิจอะไร
ยกตัวอย่างเช่นเช่นหุ้นในหมวดบันเทิง ซึ่งมีทั้งกำไรจากธุรกิจคอนเสิร์ต มีรายได้จากธุรกิจเทปซีดี จากละครเวที
จากธุรกิจภาพยนตร์ พอเราดูกำไรในงบรวมซึ่งบอกแค่ว่ากำไรรวมออกมาแล้วได้เท่านี้ แต่ไม่ได้บอกว่ามาจากธุรกิจแต่ละอย่าง
ที่มีความเสี่ยงและผลประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน เช่นในธุรกิจเทป ซีดี ที่มีปัญหาของปลอม กำไรในงบรวมมักถูกฉุดด้วยธุรกิจกลุ่มนี้เป็นประจำ
ถ้าเราเปิดหมายเหตุประกอบงบจะเห็นว่ากำไรจากส่วนนี้แทบไม่มี แต่บริษัทนี้อยู่ได้ด้วยละครเวที ด้วยคอนเสิร์ต
เราก้ต้องมาประเมินว่านักร้องในสังกัดนี้ยังคงความนิยมไหม หากหมดความนิยมก็จะเป็นตัวฉุดผลการดำเนินงาน
ในภาพรวมให้ตกต่ำลงได้

ฉะนั้นนักลงทุนเมื่อดูงบรวมแล้วให้รีบเปิดไปดูที่หมายเหตุประกอบงบ เพราะหมายเหตุจะแจกแจงกำไรในแต่ละธุรกิจที่รวมอยู่ในงบรวม
เพื่อเราจะได้มาประเมินว่าหากธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นฐาน เช่น อาจมีการขยายธุรกิจในส่วนของภาพยนตร์
ละครเวทีมากขึ้น ตัวนี้จะเป็นตัวผลักดันกำไร แล้วไปลดในส่วนของธุรกิจเทป ซีดีโดยอาจหาสื่ออื่น ๆ มาแทน
ตัวนี้อาจช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรในอนาคต
หลังจากดูด้านรายได้แล้ว ก็ต้องมาดูด้านรายจ่ายเพราะคำว่ากำไรเกิดขึ้นมาจากรายได้ลบรายจ่ายนั่นเอง

ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายมาจาก 2 ส่วนหลักคือ

1. ต้นทุนในการขายหรือต้นทุนบริการ ปรากฏอยู่ในบรรทัดแรกของส่วนถัดไป ซึ่งเป็นตัวสะท้อนว่า
ในบรรทัดแรกของการขายของเราทำมาด้วยต้นทุนเท่าไหร่ พอเราเอาต้นทุนขายบรรทัดแรกไปเทียบกับรายได้
บรรทัดแรกแล้วเราจะเรียกว่ากำไรขั้นต้น ในธุรกิจซื้อมาขายไปหรือธุรกิจผลิตสิ่งของจะใช้คำว่าต้นทุนขาย
ส่วนธุรกิจบริการเช่นโรงแรมหรือโรงพยาบาลจะใช้คำว่าต้นทุนบริการ
( กำไรขั้นต้น ของธุรกิจบริการหาได้จาก รายได้ค่าบริการ – ต้นทุนบริการ)
ดังนั้นธุรกิจไหนจะมีกำไรในบรรทัดสุดท้ายดีหรือไม่ดีเริ่มต้นก้อยู่ที่กำไรขั้นต้นว่าใครจะทำได้ดีกว่ากัน
เช่นในธุรกิจโรงพยาบาลเราจะพบว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กขนาดกลางขนาดย่อมไม่มีความแตกต่างในการให้บริการอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในอัตราที่ต่ำ
ส่วนรพ.อย่างบำรุงราษฎร์ หรือ รพ.กรุงเทพจะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมากถึง 30 – 40 % ยิ่งเป็นสมิติเวชจะสูงถึง 40++ % เรียกว่าเป็น
รพ.โดดเด่น ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่แต่ละแห่งนำมาใช้เช่นกลยุทธ์ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ผู้นำด้านของราคา ,
ต้นทุนต่ำในการรักษาโรค, ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการรักษาโรคซับซ้อน,บริการประทับใจ
ดังนั้นกลยุทธ์ต่างกัน อัตราการทำกำรขั้นต้นจึงต่างกัน

แต่สำหรับธุรกิจค้าปลีกอย่าง MAKRO หรือ BIGC ที่ไม่สามารถหยิบยื่นความแตกต่างได้อย่างเต็มที่
อัตรากำไรขั้นต้นจึงอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ไม่เหมือนธุรกิจให้บริการ

2. ค่าใช้จ่ายในการขาย ซึ่งเป็นงานแม่บ้านเบื้องหลัง อยู่ในบรรทัดถัดมา ได้แก่ ค่านายหน้า ค่าขนส่ง ค่าโฆษณา
ที่จ่ายเป็นต้นทุนเท่าไหร่เพื่อสร้างยอดขาย

3. ค่าใช้จ่ายบริหาร ได้แก่ HR, บัญชี

4. ค่าตอบแทนกรรมการบริษัท

5. ค่าตอบแทนผู้บริหารรายสำคัญ คือ ผู้บริหารที่สร้างความแตกต่างให้กับบริษัทมีอยู่ 4 ระดับ นับตั้งแต่ CEO ลงมา รวมถึงเงินเดือน
โบนัส และผลตอบแทนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งบทราบว่าแต่ละบริษัทมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นเท่าไหร่
เช่น บางบริษัทมีขนาดเล็กแต่กลับใช้ผู้บริหารเงินเดือนสูงเป็นจำนวนมากเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่

รายได้ – ต้นทุนขาย = กำไรขั้นต้น

กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่าย = กำไรจากการดำเนินงาน

เพราะฉะนั้นแสดงว่ากำไรจากการดำเนินงานมันถูกผลักดันมาจาก

1. ต้องเริ่มต้นด้วยการมีกำไรขั้นต้นที่ดีมาก่อน
2. อยู่ที่การบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ

กำไรจากการดำเนินงาน + รายได้อื่นๆ(ดอกเบี้ยรับ,ค่าเช่า,อื่นๆที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก) = EBIT


EBIT ย่อมาจาก Earning Before Interest Tax คือกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี
ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่า
กำไรต้องผ่านการผลักดันจากรายได้ในส่วนอื่น ๆ ด้วย จะไปพึ่งพิงจากการแมนเนจต้นทุน และการทำกำไรขั้นต้นอย่างเดียวไม่ได้
ต้องมีรายได้มาจากสิ่งที่เป็น non core. แต่มันจะต้องไม่ไปพึ่งพิงกับสิ่งที่เป็น one time มากเพียงครั้งเดียว เช่นรายได้จากการขายทรัพย์สิน

EBIT – ดอกเบี้ย – ภาษี = กำไรสุทธิ

แสดงว่ากว่าจะมาเป็นสิ่งที่นักลงทุนเห็นในบรรทัดสุดท้าย มันจะต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายบรรทัด
แต่นักลงทุนส่วนมากมักไม่มีเวลาอ่านเราก็เลยดูกันแค่เพียงกำไรบรรทัดสุดท้ายพอ ดังนั้นการที่กำไรในบรรทัดสุดท้ายดีขึ้น
บางทีก็ไม่ใช่สัญญาณที่บอกว่าบริษัทนี้มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด
วิธีดูงบดุล เป็นงบที่แสดงถึงฐานะว่าวันปิดบัญชีบริษัทร่ำรวย มีจนเช่นไรบ้าง
จะบอกกล่าวว่ามีสินทรัพย์อะไรเหลือบ้างในวันปิดบัญชี ซึ่งสินทรัพย์ก็ประกอบไปด้วยสินทรัพย์ที่หมุนเวียนและไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียนก็ประกอบไปด้วย เงินสด บัญชีลูกหนี้ สินค้าคงเหลือซึ่งต้องระวังเพราะบางทีเก่าเก็บตกรุ่น
ดังนั้นทางบัญชีจึงมีการกำหนดให้บริษัทต้องตีราคาของสินค้าคงเหลือที่ตกรุ่นไปสู่ราคาตลาดที่มูลค่าสุทธิที่ได้รับที่ถูกกว่า
และยอมรับการขาดทุนจากการที่ถือของเน่าๆ ดังนั้นขาดทุนตัวนี้จะไปรวมอยู่ในต้นทุนขาย แล้วเปิดเผย
ในหมายเหตุประกอบงบว่าที่ต้นทุนขายโป่งขึ้นมาเยอะเพราะไปแบกของเน่าๆไว้เยอะ ดังนั้นที่กำไรขั้นต้นลดลงเยอะในปีปัจจุบันอาจเพราะมีของตกรุ่น
มีของลดลงในราคาตลาด แต่ส่วนมากที่ กลต. ต้องเรียกงบมาทำการแก้ไขเพราะบริษัทไม่ยอมแก้ไข
ปรับลดลงเพราะกลัวนักลงทุนจะถามว่า ทำไมต้นทุนขายสูง กำไรหดลง ก็เลยพยายามแสดงราคาสินค้าเว่อร์ๆ
ตามที่มีอยู่ในบัญชี แต่ไม่สนใจว่าราคามันจริงหรือเปล่าที่จะขายได้เท่านั้น ตอนนี้เลยออกกฎว่า
ให้ปรับลดลงตามมูลค่าสุทธิที่จะขายได้ของสิ่งที่เน่าๆ แต่ของที่ดีๆไม่ให้ปรับลงแต่ก็ห้ามตีราคาสูงขึ้นเพราะยึดหลักความระมัดระวัง

รายการจ่ายล่วงหน้า คือ รายการที่เสียเงินแล้วแต่ประโยชน์ยังไม่เกิดในปีนั้น ๆ

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เช่น การไปถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ไว้เพื่อเอาดอกผลในรูปของเงินปันผล

สินทรัพย์ถาวร ได้แก่ ที่ดิน อาคาร

รายการที่ไม่มีตัวตน เช่น ซอร์ฟแวร์ที่บริษัทใช้ หากเป็นพวกบริษัทบันเทิงก็จะเป็นพวกลิขสิทธิ์ที่ถือครอง

รายการต่างๆข้างบนรวมกันหมดจะเรียกว่า สินทรัพย์ คือ ทรัพยากรที่เหลืออยู่ในวันปิดบัญชีที่จะยังมีประโยชน์ต่อไปในอนาคต
ฉะนั้นเราต้องดูตัวเลขนี้ประกอบเพราะการที่เรารู้ว่ากำไรของบริษัทดีขึ้นเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ
ต้องดูด้วยว่าเค้าได้เอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อทำกำไรกลับมาได้ซักเท่าไหร่ด้วย
กรณีตัวอย่างเช่น
เปรียบเทียบโรงพยาบาลระดับบน 2 แห่งที่เป็นคู่แข่งกัน รพ.แห่งแรก( KH ) มีอยู่แค่ตรงสุขุมวิทเล็กๆ
ลงทุนไปทั้งหมด 8,000 กว่าล้าน ในทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ในวันปิดบัญชี แต่สามารถทำกำไรกลับมาได้ 1,200 – 1,300 ล้าน
ในขณะที่ รพ.อีกแห่งมีทรัพย์สิน 30,000 กว่าล้าน แต่ทำกำไรกลับมาได้เพียง 1,700 ล้าน ต่างกัน 400 - 500 ล้าน
ถามว่านักลงทุนจะเลือกลงทุนตัวไหนหากมองด้วยปัจจัยเพียงเท่านี้ไม่เอาอย่างอื่นมาดู เราย่อมต้องชอบ รพ.ที่มีสินทรัพย์เพียง 8,000 ล้าน
แต่ทำกำไรต่อปีได้ 1,200 ล้าน ในขณะที่อีกแห่งมีฐานสินทรัพย์ใหญ่กว่าเป็น 3 – 4 เท่า แต่กำไรต่างกันเพียงนิดเดียว
ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องดูงบดุลด้วยไม่ใช่เพียงดูว่ากำไรดีขึ้นเมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน
แต่เราต้องดูว่าแล้วเค้าใช้ทรัพยากรไปเยอะไหม หรือที่เราเรียกว่า ROA
( Return on Asset ) เราต้องดูผลตอบแทนจากการลงทุนว่ามันมากแค่ไหน

เพราะฉะนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการดู สินทรัพย์ คือรายการที่อยู่ใน งบดุล บางส่วนก็เป็นหนี้สั้นบางส่วนก็เป็นหนี้ยาว
และบางส่วนก็เป็นส่วนของเจ้าของที่เอาทุนมาลง แล้วที่ทุนมันเติบโตทุกวันนี้ก็เพราะกำไรสะสม
ดังนั้นนักลงทุนเบื้องต้นต้องดูแค่ว่า เอาสินทรัพย์เป็นตัวหารอยู่ข้างล่าง เอากำไรตั้งอยู่ข้างบนแล้วดูว่ามันมีผลตอบแทนจากสิ่งที่ลงทุนไปเท่าไหร่


ROA = กำไรสุทธิ / สินทรัพย์ทั้งหมด

ค่าที่ได้ยิ่งสูงแสดงว่าประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ค่อนข้างดี แล้วถามว่า ROA เท่าไหร่ถึงจะดี ตอบว่า

1. สูงกว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

2. สูงกว่าต้นทุนเงินทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ( ROA > WACC )
WACC ( Weighted Average Cost of Capital )คือ ต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ยที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ
ซึ่งจะเป็นตัว benchmark ของตัว ROA ที่บอกว่าบริษัททำได้ดีแล้วหรือยัง ว่าเค้าเอาเงินที่มาจากการก่อหนี้
และเอาเงินมาจากส่วนของเจ้าของด้วยต้นทุนที่เฉลี่ยออกมาแล้วเท่าไหร่ เช่น ถ้า ROA เคาะออกมา
แล้วได้ 18 % แต่บริษัทใช้เงินทุนที่มีต้นทุนถัวเฉลี่ยเข้ามาเพียง 11% เราก็จะได้ Capital Yield เท่ากับ 7%

Capital Yield = ROA – WACC

นั่นคือเวลาเราดูผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน ( ROA ) ก็คือต้องดูภาพรวมว่าบริษัทใช้สินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพไหม
ทำได้สูงกว่าต้นทุนเงินไหม แต่ถ้าอยากดูว่าแล้วผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นยังไง เพราะคำว่าสินทรัพย์มาจากทั้งการก่อหนี้
มาทั้งจากเจ้าของเพราะฉะนั้นผลตอบแทนของ ROA ที่ได้เป็นผลตอบแทนที่ทั้งสองฝ่ายได้รับทั้งเจ้าหนี้และเจ้าของ
แต่ถ้าอยากดูว่าผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจริง ๆ ได้รับก็ต้องเอากำไรตั้งแล้วหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นเพื่อดู ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE

ความแตกต่างระหว่าง ROA และ ROE คือ

ROA คิดเหมือนประหนึ่งว่าเรากำลังวัดผลตอบแทนที่กลับไปยังทั้งผู้เป็นเจ้าหนี้ และผู้เป็นเจ้าของที่เอาเงินมาจมในสินทรัพย์ของบริษัท

แต่ ROE คือการวัดผลตอบแทนหลังหักต้นทุนเงินคือดอกเบี้ยจ่ายที่ให้เจ้าหนี้แล้ว เจ้าของเหลือกำไรเท่าไหร่
เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตัวเองเอามาลงทุนในบริษัทคือส่วนของผู้ถือหุ้น

เช่น หุ้นรพ. KH ใช้สินทรัพย์ขนาดเล็ก แต่สามารถทำ ROE กลับมาได้ถึง 40% หมายความว่าใช้เงินของเจ้าของน้อยมากแต่ทำผลตอบแทนกลับมาได้มาก

.................................




วิธีอ่านงบกระแสเงินสด


งบกระแสเงินสดเป็นอีกงบที่สำคัญเพราะกำไรทางบัญชีไม่ได้คิดตามเงินที่เข้าจริงออกจริง
รายได้ของบัญชีไม่ได้คิดตามเงินที่เรียกเก็บได้แล้ว ขายของได้แล้วแต่ยังเก็บเงินไม่ได้แต่ก็ถือว่ารายได้ต้องบันทึก
ดังนั้นกำไรที่เราเห็นจึงเป็นตัวเลขทางบัญชีเพราะมันไม่ได้บอกว่าถ้ามีกำไรดี แล้วต้องมีเงินสดหมุนเวียน
ในการดำเนินการดีตามยอดกำไรไปด้วย เพราะบ่อยครั้งการขายทำในรูปการขายเชื่อที่เก็บเงินไม่ได้
แต่ก็ต้องลงบัญชีว่าเกิดรายได้ เพราะรายได้ไม่ใช่รายรับ

รายรับ คือเงินสดที่ไหลเข้ามาในรอบบัญชีในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ แต่รายได้คิดตามความสามารถในการขายของ
ดังนั้นถ้าฝ่ายขายกระตุ้นยอดขายผ่านการขายเชื่อเยอะๆ ยังไงก็ต้องลงบัญชีว่าเกิดรายได้
และกำไรก็เกิดมาจากรายได้ที่คิดมาจากตัวเลขทางบัญชีตัวนี้
ดังนั้นงบกระแสเงินสดจึงเป็นเครื่องมือที่มาตรวจสอบดูว่า ถ้ากำไรจะมีคุณภาพที่แท้จริงจะต้องรองรับด้วยกระแสเงินสด
จากการดำเนินงาน เช่น ถ้ากำไรมี 100 ล้าน แต่เงินสดจากการดำเนินงานมีอยู่แค่ 12 ล้าน ( จะอยู่ในงบกระแสเงินสดในส่วนที่ 1 ในบรรทัดที่เขียนว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ )
แล้วถามว่าทำไมกำไรมันเยอะ แต่เงินสดมีอยู่แค่นั้นเองเหรอ ?

แสดงว่าเราอาจคาดเดาได้ว่าอาจจะ

1. เงินติดอยู่ในบัญชีลูกหนี้
2. เงินจมในสต็อคสินค้า
3. ต้องจ่ายเงิน ซัพพลายเออร์ค่อนข้างเร็ว เหมือนกับว่าวางบิลไม่นานก็ต้องจ่ายเพราะเครดิตอาจจะไม่สู้ดี หรือบริษัทไปติดต่อกับซัพพลายเออร์ที่ไม่ยืดหยุ่นพอ
แล้วกระแสเงินสดสำคัญยังไง ?
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตอนฤดูจะจ่ายปันผลบริษัทต้องเอาเงินมาจ่ายไม่ใช่เอากำไรมาจ่าย
กำไรเป็นแค่เครื่องมือในการนำมาคิด%ของเงินปันผลที่จะจ่ายให้ เช่น จะจ่ายร้อยละ 40 ของผลกำไร
แต่เวลาจะจ่ายจริงก็ต้องมีเงินสด ฉะนั้นที่เราต้องตรวจสอบกระแสเงินสด เพราะบางบริษัทเราไม่ใจว่าเงินปันผลที่เอามาให้เรา
เผลอ ๆ อยู่ในฤดูทับซ้อนกับตอนออกหุ้นกู้ ไม่แน่ใจว่ากำลังเอาเงินจากการก่อหนี้มาจ่ายเรารึเปล่า
เราถึงต้องดูว่าเงินสดมีพอรึเปล่าซึ่งเราไม่ชอบที่จะรับเงินปันผลจากการไปก่อหนี้มา หรือการไปเพิ่มทุนล็อตใหม่มารึเปล่า
ในเวลาใกล้เคียงกันแล้วมาจ่ายให้พวกเราทำเหมือนแชร์แม่ชม้อยต่อกันเป็นวง ดังนั้นเงินจากการดำเนินงาน
ต้องรองรับการจ่ายปันผลให้ได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือหากเอาของเก่าที่ฝากธนาคารไว้ตอนต้นงวด
มารวมกับเงินสดจากการดำเนินงานเพื่อจ่ายปันผลก็พอได้

งบกระแสเงินสดมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ

1. เงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน
2. เงินสดสุทธิในการลงทุน
3. เงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมจัดหาเงิน

แต่ส่วนที่เราสนใจมากที่สุดคือเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานนั่นเอง ถ้าการดำเนินงานแล้วเงินสดหายไปเรื่อย ๆ
อันนี้ลำบากอีกเหมือนกัน บริษัทอย่างงี้มีเยอะคือมีกำไรทางบัญชีแต่เงินสดติดลบหมายความว่ารับไม่พอจ่าย
หากเป็นแค่ในระยะสั้น ๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าต่อเนื่องติดต่อกันหลายไตรมาศ หลายปีแล้วยังมาจ่ายเงินปันผลได้อีกอันนี้อาการน่าเป็นห่วง
เป็นสิ่งที่นักลงทุนบอกได้ว่าอย่างงี้ไม่ดีแน่ในด้านการลงทุน

สิ่งที่สำคัญควรนำมาอ่านควบคู่กันก็คือ หมายเหตุประกอบงบ อ่านไปต้องวิเคราะห์ไป
แล้วเอาแบบฟอร์ม 56-1 ที่ต้องอ่านเพิ่มเติมเพื่อจะได้รู้ทิศทางไปทางไหน ใช้กลยุทธ์อะไร ความเสี่ยงมีอะไร
แล้วท้ายสุดทำไมบริษัทจบลงจึงเป็นอย่างนี้
บริษัทนั้นก็เป็นบริษัทที่น่าลงทุนเช่นกัน
อีกกรณีที่มีการขายเงินลงทุนแล้วทำให้ภาพรวมดูดีขึ้นคือ กรณีผู้พันขายกาเหว่า (MAJOR ขายหุ้น KAWOW ที่มีผลดำเนินการขาดทุนมาโดยตลอด)
แต่ในบางครั้งพอขายแล้วกลับเป็นการบั่นทอนศักยภาพในการทำกำไรในอนาคตทั้ง ๆ ที่ไม่อยากขาย
แต่มีความจำเป็นต้องขายเพราะขาดสภาพคล่องจึงต้องขายทรัพย์สินบางส่วนออกไป

เพราะฉะนั้น 3 บรรทัดบนต้องดูให้ละเอียดลออว่ารายได้มาจากอะไร แต่ต้องระวังอย่าดูแต่รายได้ที่เติบโตทุกปี
เราต้องดูด้วยว่าต้นทุนหลักมันเป็นยังไงด้วยเพราะเราลงทุนในกำไร ไม่ใช่ลงทุนในรายได้
เพราะบางคนอาจเข้าใจว่ารายได้คือกำไร แต่ในทางบัญชีบอกว่ารายได้คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เข้ามาไม่ว่าจะในรูปของเงินสด
หรือจะไปตามเก็บในอนาคต ก็เรียกว่ารายได้ ดังนั้นรายได้จึงไม่ใช่ตัวสะท้อนเงินสดที่เข้ามา

---------------------------------------------------
ที่มา: Pantip.com

ไม่มีความคิดเห็น: